รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่ เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขง ตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำทุกหน่วยบูรณาการข้อมูลและทรัพยากรทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เร่งเดินหน้าเชิงป้องกัน เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่ เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขง ตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำทุกหน่วยบูรณาการข้อมูลและทรัพยากรทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เร่งเดินหน้าเชิงป้องกัน เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2568) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่เป็นประธานการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. โดยมีนายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย , นางสาวชนก จันทาทอง สส.หนองคาย เขต 2 , นายเอกธนัช อินทร์รอด สส.หนองคาย เขต 3ผู้แทนจังหวัดสกลนคร , จังหวัดมุกดาหาร , จังหวัดนครพนม , จังหวัดบึงกาฬ , จังหวัดเลย จังหวัดอุดรธานี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปทุมเทวาภิบาล ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดหนองคาย

 

ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยบริเวณพระธาตุหล้าหนอง หรือพระธาตุกลางน้ำ ชุมชนจอมมณี และที่ห้วยวังฮู ชุมชน จอมมณี อ.เมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ที่เป็นจุดที่ลุ่มต่ำมากที่สุดในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย และในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่อำเภอท่าบ่อ เพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับระบบประปาของเทศบาลเมืองท่าบ่อ ที่ประสบปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค ณ หอประชุมเทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่รายงานสภาพปัญหาและแผนการดำเนินการ พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อรับทราบสภาพความเป็นอยู่และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ด้วย

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนมาระยะหนึ่งแล้ว และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกสะสมในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มกระทบหลายพื้นที่ของไทย และได้รับรายงานว่ามีโอกาสที่ระดับน้ำจะล้นตลิ่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนริมแม่น้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และร่วมกำกับการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะใช้เป็นกลไกสำคัญในการประสานงานและบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ในการเตรียมความพร้อมรับมือ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงใช้เป็นที่ร่วมประชุมวางแนวทางการบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ให้การปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วมต่อประชาชนให้มากที่สุด

 

การประชุมในวันนี้ เป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าแต่ละจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดท้าข้อมูลคาดการณ์ ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การวางแผนปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำตามสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมอาคารชลศาสตร์ โทรมาตร เครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ การตรวจสอบความแข็งแรงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำและเขื่อน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ โดยให้เฝ้าระวังและเผยแพร่สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลในการประสานงานร่วมกับ สปป.ลาว ให้ สทนช. กรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนที่ภูมิประเทศความละเอียดสูง เพื่อนำไปประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและใช้วางแผนเตรียมความพร้อมเชิงรุก ให้จังหวัด กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งกำจัดและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สำหรับการเตือนภัยให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมประชาสัมพันธ์ ใช้ระบบแจ้งเตือนภัย เช่น Cell Broadcast (CB) หรือระบบส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน ควบคู่กับช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันสถานการณ์ นอกจากนี้ จังหวัดต้องร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที โดยให้เตรียมพร้อมด้านทรัพยากร เช่น เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และชุดปฐมพยาบาล รวมถึงกำหนดจุดศูนย์พักพิงชั่วคราวในกรณีต้องมีการอพยพประชาชนด้วย จึงขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะทำงานอย่างจริงจังและบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การรับมือกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย