ประมงจังหวัดบึงกาฬสนับสนุนชุมชน ต.หอคำ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิกฤตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

ประมงจังหวัดบึงกาฬสนับสนุนชุมชน ต.หอคำ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิกฤตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

วันที่ 15 กันยายน 2563  สำนักงานประมงจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับกลุ่มวิจัยพื้นบ้านตำบลหอคำ ,เทศบาลตำบลหอคำ ,โรงเรียนหอคำพิทยาสรรค์ ,ผู้นำชุมชนตำบลหอคำ ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 3 (สกลนคร) และสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ภายใต้ โครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ บนฐานความมั่นคงทรัพยากรทางอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ ในลุ่มน้ำโขง และความสามารถในการปรับตัวจากปัจจัยเสี่ยงด้านภัยพิบัติ จัดกิจกรรมปล่อยกุ้งก้ามกรามและปลาพื้นถิ่น จำนวน 400,000 ตัว พุ่งเป้าสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

นายวรพงษ สาระรัตน์ ประมงจังหวัดบึงกาฬ  เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านหอคำหมู่ 1 และหมู่ 13 ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง จึงร่วมกันสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำแผนแก้ไขปัญหา และเห็นร่วมกันว่า ควรมีการสร้างแหล่งอาหารสำรอง  ซึ่งได้ทำการคัดเลือกแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน เพื่อฟื้นฟูให้มีปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น และบริหารจัดการการใช้ประโยชน์  โดยจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบริเวณหนองเมือกซึ่งมีพื้นที่น้ำประมาณ 650 ไร่  กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์บริเวณด้านหน้าฝายจำนวน 65 ไร่ และหนองหวาย พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ทั้ง 5 ไร่ โดยประชาชนมีความประสงค์ให้พื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ประกาศเป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตาม พรก.ประมง พ.ศ.2558 เพื่อกันพื้นที่บางส่วนไว้เป็นสถานที่หลบอาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้มีการจัดฝึกอบรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และปล่อยพันธุ์ปลาพื้นถิ่นลงแหล่งน้ำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ประมงจังหวัดบึงกาฬ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2563 แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อปล่อยกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำชุมชน จำนวน 500,000 บาท ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่นให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง โดยเฉพาะทีมวิจัยประมงพื้นบ้านตำบลหอคำ ที่เป็นหลักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมา

 

นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานในลักษณะเดียวกันนี้ ทางสมาคมฯ ได้ช่วยเชื่อมประสานแผนงานการสร้างความมั่นคงทางอาหาร กับกรมประมง และได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมประมง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นอกจากนี้ สมาคมฯ มีแผนการดำเนินงานต่อเนื่องในการยกระดับแผนงานเพื่อสร้างรูปธรรมตำบลนำร่องเพื่อเสนอแผนในการตั้งรับปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขง ซึ่งนับวันจะผันผวนหนักขึ้น อันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้านและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงในหลายเรื่อง และความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นเรื่องต้น ๆ ที่ชุมชนร้องขอให้มีการดำเนินการ.   
       
กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย