กองทัพภาคที่ 2 ฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ (CPX) การฝึกบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองทัพภาคที่ 2 ฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ (CPX) การฝึกบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 2 เป็นประธานเปิดการฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ (CPX) การฝึกบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับจังหวัด ประจำปี 2568 ที่ห้องศรีพัชรินทร สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยมีผู้รับการฝึก 160 คน ประกอบด้วย ผู้บัญชาการหน่วยทหาร ระดับกองบัญชาการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2, ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัด, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดฝ่ายทหาร, ผู้แทนสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด, ผู้แทนสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด, จิตอาสา 904, ผู้แทนมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนในจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบนโยบาย และรับฟังปัญหาในการปฏิบัติงานด้านจิตอาสาของศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน หน่วยทหาร, ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัด และส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานด้านจิตอาสา รวมถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการประสานงานประสานการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ อีกทั้ง เพื่อฝึกแผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ในแบบบูรณาการร่วมกันระหว่าง ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 2, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 2, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบก, ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัด และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
พลโท บุญสิน กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ทบทวนการปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ ต้องการให้เกิดภาพการบูรณาการร่วมของทุกฝ่าย ความประสานสอดคล้อง และการประสานงานการปฏิบัติ อย่างแน่นแฟ้นระหว่างหน่วยต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติงานเมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ในการช่วยเหลือประชาชน ให้ช่วยกันได้ระดมความคิด วิเคราะห์พื้นที่ และจัดทำแผนสำหรับใช้ในการบรรเทาภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมการแต่เนิ่น สิ่งที่สำคัญ คือการนำปัญหาข้อขัดข้องที่เคยเกิดขึ้น นำมาทบทวนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นซ้ำ หรือไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งใช้กลไกการปฏิบัติงานจิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันเมื่อเกิดเหตุการณ์.