ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
วันนี้ (28 ก.ย. 67) นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ,นางอ้อมขวัญ คงทัน รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย โดยจุดแรกที่บ้านกลางน้อย หมู่ 7 ต.บ้านว่าน จุดที่ 2 ผู้ว่าฯ หนองคาย ต้องนั่งเรือเข้าไป เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมรถทุกชนิด ไม่สามารถสัญจรได้คือบ้านเป้า หมู่ 8 ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีนายนวน โทบุตร นายอำเภอท่าบ่อ , นายประภาส คลังชำนาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบ้าน ,ร.ต.ต.ปิยวัฒน์ กำเนิดเกิด หัวหน้าศูนย์บริการประชาชนตำบลโคกคอน (สภ.ท่าบ่อ) พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งถนนทางหลวงชนบท นค.3015 ช่วงจากบ้านโพนธาตุ – บ้านโคกคอน ขณะนี้ได้ถูกน้ำท่วมรถขนาดเล็กไม่สามารถผ่านได้
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย แบ่งออกเป็นสองช่วง ๆแรกตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 อำเภอ 51 ตำบล 196 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย จำนวน 33,450 ไร่ และช่วงที่สอง เริ่มจากวันที่ 11 กันยายน 2567 น้ำโขงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ 33 ตำบล 175 หมู่บ้าน 8,199 ครัวเรือน และวัดจำนวน 72 แห่ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ด้านพืช 57,309.75 ไร่ ด้านประมง 1,471 ไร่ และด้านปศุสัตว์ 23,350 ตัว
ในส่วนของอำเภอท่าบ่อ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 8 ตำบล 55 หมู่บ้าน 2,734 ครัวเรือน น้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอท่าบ่อ ที่เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ประสบอุทกภัยมากที่สุดนั้น มาจากน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง หนุนเข้าลำห้วยสาขาที่ไม่มีประตูระบายน้ำที่ปิด-เปิดได้ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง มีการปิดประตูระบายน้ำลำห้วยโมง มาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจนมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในลำห้วยโมง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำโขงหนุนเข้าในลำห้วยโมง แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักทั้งในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานีที่เป็นต้นน้ำของลำห้วยโมง ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงในลำห้วยโมงในปริมาณมาก ส่งผลให้เอ่อล้นตลิ่งลำห้วยโมงเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนเป็นวงกว้าง จนกระทั่งช่วงบ่ายของวันที่ 16 ก.ย. 67 พบว่าระดับน้ำโขงได้ลดลงจนมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในลำห้วยโมง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ก็ได้เปิดประตูระบายน้ำลำห้วยโมงขึ้น 100% ทั้ง 4 บาน ทำให้น้ำในลำห้วยโมงที่เอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำท่วมจึงได้คลี่คลายมากขึ้น.