กรมประมง เตรียมพัฒนาระบบการเตือนภัยเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านการประมงแม่น้ำโขง (Fisheries watch) โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม

นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) เปิดเผยหลังจากมีการประชุมกับ นายศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมเสือตอ กรมประมง ว่า จากสภาวะแม่น้ำโขงผันผวนอย่างมากตั้งแต่ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หลายพื้นที่แห้งขอดทั้งที่เป็นฤดูน้ำหลาก ปลาและระบบนิเวศเสียหายประเมินมูลค่าไม่ได้ ตามที่เครือข่ายฯ ได้นำเสนอข้อมูลผ่านสาธารณะอย่างต่อเนื่อง กรมประมงได้ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7    จังหวัดภาคอีสาน ในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจัดฝึกอบรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระบบโรงเพาะฟักภาคสนาม (Mobile Hatchery) เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำชุมชนตนเองได้อย่างเพียงพอ และเร่งฟื้นฟูโดยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารสัตว์น้ำในพื้นที่ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและเสริมสร้างผลผลิตสัตว์น้ำจากการจัดการแบบมีส่วนร่วมร่วมกับชุมชนประมงในพื้นที่นำร่องจำนวน 10 พื้นที่  ในเขตจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม นอกจากนี้ มีการประชุมเพื่อการพัฒนาแผนเชิงรุกด้านการประมงระดับชุมชนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงร่วมกัน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ณ อำเภอปากชม จังหวัดเลยที่ผ่านมา และมีข้อเสนอจากภาคประชนในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหลากหลายเรื่อง โดยเฉพาะ  การจัดทำระบบข้อมูลและการเตือนภัยเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านการประมงแม่น้ำโขง (Fisheries watch)

ผลการประชุมปรึกษาหารือในวันนี้ เน้นการศึกษาการสร้างระบบการเตือนภัยเบื้องต้นภายใต้การมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น อันสืบเนื่องจากการขึ้นลงของน้ำที่ผิดธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และชนิดและปริมาณสัตว์น้ำ นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยอ้างถึงรายงานของ นายสุริยา จงโยธา ประมงจังหวัดหนองคาย ที่ระบุว่าปลานิลกระชังหนองคายได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่ผันผวนตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม  2562 และลดระดับฉับพลันวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ลดลงเหลือ 3.62 เมตร ทำให้ในวันที่ 18-19 กรกฎาคม ปลาในกระชังตายเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นไป จำนวนประมาณ 30-100 ตัน มูลค่าความเสียหาย 4.5-6 ล้านบาท และหลังจากนั้น เกิด after shock ปลาอ่อนแอและป่วย จำนวน 30-50 ตัน ส่วนความเสียหายที่เกิดกับปลาธรรมชาติและระบบนิเวศน์ตลอดแนวแม่น้ำโขงยังไม่สามารถ ประเมินมูลค่าได้

 

ที่ประชุมจึงมีข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นว่า จะดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ ในการออกแบบและทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย ทั้งระดับน้ำ และคุณภาพน้ำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายนำร่องคือ เครือข่ายผู้เลี้ยงปลากระชัง และชาวประมงแม่น้ำโขง จำนวน 7 จุด กระจายตัวในพื้นที 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงภาคอีสาน

 

ทั้งนี้ นายศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมประมง กล่าวว่า จะสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูล บุคลากรเพื่อฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมาย และทดสอบระบบการแจ้งเตือนร่วมกับชุมชน ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่ง อยู่ระหว่างรอการทำ บันทึกข้อตกลงกับสถาบันสารสนเทศการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ( สสนก.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่เป็นหน่วยงานหลักที่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธนพร  ศรียากูล ที่ปรึกษา คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า  การพัฒนาระบบและข้อมูลที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจสถานการณ์ปัญหา จำนวน ต้นทุนการผลิต ผลผลิต ของผู้เลี้ยงปลากระชัง ข้อมูลการจับปลา ชนิด จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละช่วงเดือน ของชาวประมงแม่น้ำโขง รวมทั้งข้อมูลการรับซื้อปลาแม่น้ำโขง ชนิด ปริมาณปลา มูลค่าการซื้อขายในแต่ละช่วงเดือน เพื่อประเมินผลกระทบในเบื้องต้น รวมทั้งการหาลู่ทางสนับสนุนเช่น การจัดตั้งกองทุน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสำรวจวิจัยชนิดพันธุ์ปลา ในหมู่บ้านวิจัยนำร่อง อีกทั้งเห็นด้วยกับนายศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมประมง ในเรื่องการส่งเสริมการตลาดปลาสวยงาม (ปลาที่มีลักษณะผิดปกติที่เป็นที่ต้องการของตลาด) เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดปริมาณปลากลายพันธุ์ออกจากแม่น้ำโขง และส่งเสริมการสร้างรายได้แก่ชาวประมง ทั้งนี้ จะมีการออกแบบการดำเนินงานร่วมกันและทดสอบระบบในเบื้องต้น เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานร่วมกันต่อไป.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย