เงินแผ่นดินทุกบาทต้องเพื่อประชาชน...ประชาชน-สื่อมวลชน จังหวัดหนองคาย จับตางบภัยแล้ง (งบกลางกรณีฉุกเฉิน) ปี 62 วงเงินกว่า 152 ล้านบาท

สื่อมวลชนจังหวัดหนองคาย  ได้ติดตามโครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 18,000 ล้านบาท  กระจายให้กับแต่ละจังหวัดๆ ละ 200 ล้านบาท ยกเว้น จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์  ที่ได้จังหวัดละ 500 ล้านบาท โดยงบประมาณนี้เป็นงบประมาณกลางปีเร่งด้วยที่ทุกจังหวัดจะต้องส่งโครงการให้แล้วเสร็จ พร้อมการจัดซื้อจัดจ้าง มีแบบแปลน ให้เรียบร้อย

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา  ณ ห้องประชุมปทุมเทวาภิบาล  ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัด  นายรณชัย  จิตรวิเศษ  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัย  ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ทั้งนี้  จังหวัดหนองคาย  ได้เสนอคำของบประมาณ  โครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัย  ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  จำนวน  196 โครงการ  งบประมาณ 171,395,300 บาท โดยสำนักงบประมาณ  ได้เห็นชอบปรับลดคำของบประมาณดังกล่าวให้จังหวัดหนองคาย  จำนวน 192 โครงการ  เป็นเงิน 151,850,000 บาท  ซึ่งการปรับลดวงเงินของสำนักงบประมาณได้ปรับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าวัสดุก่อสร้างให้อยู่ในวงเงินที่กำหนด โดยปริมาณงานยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเดิม สำหรับกรณีการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ปริมาณงานและพื้นที่ดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์การขอเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

 

ซึ่งขณะนี้จังหวัดหนองคายได้อนุมัติงบประมาณ  พร้อมทั้งมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการ  หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  และนายอำเภอ  ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว  จึงได้มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในการใช้งบดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ  เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ  ดำเนินการตามปริมาณงานที่สำนักงบประมาณกำหนดโดยเคร่งครัด  และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  อีกทั้งยังเป็นการติดตามรายงานความคืบหน้าของโครงการต่างๆ  เพื่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามระยะเวลาที่กำหนด  โดยงบประมาณไม่เกิน  2 ล้านบาท  ให้ดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม  2562  ส่วนโครงการที่มากกว่า  2 ล้านบาท   ให้ดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม  2563

 

สำหรับงบฯ ดังกล่าวแยกออกเป็น  5 ประเภท  ได้แก่  การแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ  จำนวน  13 โครงการ  งบประมาณ  5,708,300 บาท,  การแก้ไขปัญหาการจัดการเพื่ออุปโภคบริโภค  จำนวน  13 โครงการ  งบประมาณ  43,300,000 บาท,  การแก้ไขปัญหาการรักษาระบบนิเวศ,  การสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  และจ้างแรงงาน  และการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัย  จำนวน  166 โครงการ  งบประมาณ  102,841,700  บาท  รวมทั้งสิ้น  192 โครงการ  งบประมาณ  151,850,000 บาท

ทั้งนี้  เมื่อแยกเป็นรายอำเภอ  และส่วนต่างๆ แล้ว  อำเภอเมืองหนองคาย  ได้รับการอนุมัติ 70 โครงการ  งบประมาณ  37,590,900  บาท,  อำเภอรัตนวาปี  ได้รับการอนุมัติ  27 โครงการ  งบประมาณ  11,818,900 บาท,  อำเภอโพนพิสัย  ได้รับการอนุมัติ  20 โครงการ  งบประมาณ  8,215,400 บาท,  อำเภอเฝ้าไร่  ได้รับการอนุมัติ  20 โครงการ  งบประมาณ  8,180,600 บาท,  อำเภอสระใคร  ได้รับการอนุมัติ 17 โครงการ  งบประมาณ  10,454,800 บาท,  อำเภอท่าบ่อ  ได้รับการอนุมัติ  8 โครงการ  งบประมาณ  9,584,200 บาท,  อำเภอศรีเชียงใหม่  3 โครงการ ได้รับการอนุมัติ  2,160,900 บาท,  โครงการชลประทานจังหวัดหนองคาย  ได้รับการอนุมัติ  8 โครงการ  งบประมาณ  2,940,400 บาท,  สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 10 ได้รับการอนุมัติ  2 โครงการ  งบประมาณ 607,000 บาท,  แขวงทางหลวงหนองคาย  ได้รับการอนุมัติ 4 โครงการ  งบประมาณ  16,996,900 บาท,  สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองคาย  ได้รับการอนุมัติ  10 โครงการ  งบประมาณ  27,500,000 บาท  และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย  ได้รับการอนุมัติ 3 โครงการ  งบประมาณ  15,800,000 บาท  รวม  92 โครงการ  งบประมาณ  151,850,000 บาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าการประชุมดังกล่าว  นายรณชัย  จิตรวิเศษ  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย  ได้เน้นในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอก  คู คลอง  ทั้งสภาพก่อนขุดลอก  ปริมาณการขุดลอก  ตรวจสอบปริมาณดินหลังขุดลอก  และต้องแสดงภาพถ่ายทุกโครงการ 

ด้านสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตกรณีการขุดลอกหนองและลำห้วยนั้น  ส่วนใหญ่ผู้รับเหมาจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  ซึ่งภาคประชาชนจะต้องตรวจสอบและติดตามโครงการต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชน  เพื่อให้การใช้งบประมาณดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อภาครัฐและประชาชนเอง.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย