ห่วงโซ่อาหารที่ถูกทำลาย วิถีพรานปลาลุ่มน้ำโขงที่ถูกกดทับ...ผลกระทบจากเขื่อนลาว สัญชาติไทย ไซยะบุรี ส่งผลกระทบวิถีพรานปลาชาวหนองคาย

เฟซบุ๊ก “อ้อมบุญ ทิพย์สุนา” โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่มีต่อแม่น้ำโขงได้อย่างน่าสนใจดังนี้

 

อ้ายสุดตา พรานปลานัยน์ตาเศร้าวัย 43 ปีแห่งลุ่มน้ำโขง บ้านม่วง  ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เล่าว่า .....

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเห็นชัด ว่าน้ำโขงขึ้นลงไม่เหมือนเดิม หน้าแล้งแทนที่น้ำจะลด มีดอน มีหาดให้จินายไคร้ (แมลงคล้ายจิโป่ม ตัวสีน้ำตาลออกดำ แต่ตัวเล็กกว่า)ได้อาศัย ชาวบ้านได้จับกินเป็นอาหาร ตอนนี้หายหมด เพราะน้ำขึ้นลงแทบทุกวัน "จินายไคร้" จะเริ่มมีเมื่อน้ำโขงลดลงใหม่ช่วงปลายฝนอากาศเริ่มเย็น เพราะจินายไคร้กินใบไคร้ที่ป่ง(ผลิใบใหม่)​ เป็นอาหาร หลังน้ำโขงลดลงเป็นดอนเล็กดอนน้อย จินายไคร้จะอาศัย แถวๆกอต้นไคร้ ปัจจุบันน้ำขึ้นลงรายวัน ต้นไคร้น้ำ ยืนต้นตาย จินายไคร้จึงแทบจะหาดูได้ยาก

พรานปลาสุดตาเล่าต่อว่า ปลาจะวางไข่ในบุ่ง ตามบริเวณที่มีเทา มีสาหร่าย เพื่อฟักเป็นตัวอ่อน เทาจะจับตามโขดหิน ตามรากต้นไคร้ ในน้ำนิ่ง ซึ่งหมายถึงในบุ่ง ในคก ที่มีน้ำขังในหน้าแล้ง นิเวศย่อยเหล่านี้ จึงเป็นแหล่งอนุบาลปลาโดยธรรมชาติ พอถึงยามน้ำหลาก ลูกปลาเหล่านี้ก็แหวกว่ายสู่โลกว้าง

ระดับและอัตราการไหลของน้ำ ส่งผลโดยตรง เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน ขึ้นลงผิดปกติ ไหลเชี่ยวมาเป็นระลอกตามจังหวะปล่อยน้ำของเขื่อน ทำให้ไข่ของปลาไหลไปตามกระแสน้ำ  อ้ายสุดตาเชื่อว่า นี่เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ยิ่งผนวกกับ เดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นฤดูน้ำหลาก ปลาควรได้วางไข่ แต่มีการทดลองปั่นไฟฟ้าของเขื่อนต้นน้ำ ส่งผลให้น้ำโขงแห้ง ปลาใหญ่โดนจับ เพราะน้ำแห้งขอด ไข่เต็มท้อง ปลาเล็กและสัตว์น้ำถูกขังในบุ่ง ยิ่งกว่ากระทะทรายร้อน

 

ตุลาคม 2562 น้ำโขงยังแห้งยาวนานถึงปัจจุบัน ไม่มีใคร หน่วยงานใดประเมินมูลค่าความเสียหายได้ การไม่มีระบบแจ้งเตือนภัย ยังส่งผลกระทบโดยถ้วนทั่ว ทั้งปลา น้ำเพื่อการเกษตร ประปา  ชาวประมงหลายแห่งสูญเสียพื้นที่หาปลา ปลาก็งง หลงฤดู ระบบนิเวศพังเพ ต้นไคร้น้ำตายหมู่ วิถีวัฒนธรรมการละเล่นเช่น แข่งเรือ ไม่สมบูรณ์ ที่ซ้ำร้ายสุดคือการกดทับความรู้สึกทุกข์ยากของคนตัวเล็กตัวน้อย นอกจากปัญหาไม่ได้รับการเหลียวแลแล้ว "ลวงปลา" หรือพื้นที่หาปลาที่มีการจับจอง ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ปกติมีการ เช่า การซื้อขาย ระหว่างพรานปลาด้วยกัน อันเป็นระบบ "กรรมสิทธิ์บนผืนน้ำ " ที่ชุมชนเคารพถือปฏิบัติกันสืบมา ลวงปลาที่อ้ายสุดตาได้หาอยู่หากินมากว่า 40 ปี จึงหมดความหมายลงโดยสิ้นเชิง.

 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก อ้อมบุญ ทิพย์สุนา

เครดิตภาพกลุ่มไลน์ คนฮักแม่น้ำโขง

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย