"กัญชาทองคำเขียว" เกษตรกรอำเภอท่าบ่อ พร้อมวิสาหกิจชุมชนเตรียมยื่นทำ MOU กับทางหน่วยงานของรัฐ และ มหาวิทยาลัยของรัฐ

วันนี้ (16 ส.ค.2562) ณ ศาลาประชาคมริมโขงบ้านกองนาง ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย พท.กฤตนัน พันธุ์อุดม กรรมการสภาแพทย์แผนไทย นายเศรษฐภัทร์ นิตยสิทธิวรากุล ประธานเครือข่ายเมืองสมุนไพรนาคราช นางธนภัทร พันธวาส ประธานเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไทย นายศรีทัศน์ มาตราช รองประธานสมาพันธ์ฯ ร่วมประชุมกับ นายอนุศักดิ์ สุขเขียว ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชา จังหวัดอุดรธานี และคณะกรรมการสมาพันธ์ร่วมเปิด "สัมมนาทางวิชาการ กัญชาทองคำเขียว" พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของเกษตรกรไทย เกษตรกรต้องได้ปลูกตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกัญชา พ.ศ.2562

 

ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน "กัญชา" ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จึงปลูกและขายเชิงพาณิชย์ไม่ได้ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงไม่สามารถรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการปลูกกัญชาโดยเฉพาะได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย ตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนไว้ว่า 1. เป็นกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของชุมชน 2. เป็นกิจการที่ดำเนินการ หรือประสงค์จะดำเนินการร่วมกันในชุมชน โดยคณะบุคคลที่เป็นนิติบุคคล หรือไม่เป็นนิติบุคคลและประกอบด้วยสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน 3. เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ เพื่อการพึ่งพาตนเอง และเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน และ 4. เป็นกิจการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แต่สำหรับกรณีเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเดิม และต้องการจะปลูกกัญชา สามารถยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชนได้ หากการปลูกกัญชานั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตร พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย และต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนนั้นจะต้องมีสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ และหน่วยงานนั้นได้รับใบอนุญาตจาก อย. แล้ว จากนั้นจึงนำสำเนาสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว มายื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน

 

“...กรมส่งเสริมการเกษตร มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในทุกประเภท หากไม่ขัดต่อกฎหมาย ฉะนั้น หากมีการแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในอนาคตแล้ว เกษตรกรก็สามารถรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาได้...” ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย กล่าว.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย