แรงงานจังหวัดหนองคาย รุดลงพื้นที่เยี่ยมอาสาสมัครแรงงาน ต.บ้านม่วง อ.สังคม เพื่อติดตามรวบรวมข้อมูลหาแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านแรงงานจากวิกฤติแม่น้ำโขงแห้งแล้งและผันผวน

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.00 น.ทีมแรงงานจังหวัดหนองคาย ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ รวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครแรงงานประจำตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือด้านแรงงานจากผลกระทบวิกฤติแม่น้ำโขงแห้งแล้งและผันผวนในระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาต่อแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ

 

นางวรรณกานต์ ขาวลาภ แรงงานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าว หน่วยงาน 5 เสือแรงงานจังหวัดหนองคาย พร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยการนำเสนอปัญหาแก่คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานจังหวัดหนองคาย ให้รับทราบและช่วยผลักดันโครงการกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพของกระทรวงแรงงาน และการฝึกอาชีพ/การพัฒนาฝีมือแรงงาน ในพื้นที่ให้ประชาชน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

“โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ จังหวัดหนองคาย มีวัตถุประสงค์ของโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ และได้รับความเดือดร้อนด้านอาชีพจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจให้มีงานทำชั่วคราวด้วยการจ้างงานให้ทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ให้แรงงานมีรายได้ในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัวเป็นการชั่วคราว และสามารถฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพในสาขาอาชีพต่างๆ เป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการกำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยผ่านกลไกของอาสาสมัครแรงงาน และเป็นการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับภูมิภาคในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการกำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ผ่านกลไกของอาสาสมัครแรงงาน (อสร.)ที่มีอยู่ในทุกตำบล โดยผ่านการประชุมให้ความเห็นชอบโครงการ/กิจกรรมจากคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานจังหวัดหนองคาย เสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายลงนามเสนอของบประมาณจากกระทรวงแรงงานตามลำดับและในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานแรงงานจังหวัดหนองคาย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 831,800 บาท สำหรับปีปีงบประมาณ 2563 สำนักงานแรงงานได้เสนอของบประมาณไปที่กระทรวงแรงงาน จำนวน 4 ล้านบาทเพื่อนำมาช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องแรงงานและประชาชนในจังหวัดหนองคายต่อไป” นางวรรณกานต์ กล่าว

 

นายพงษ์พันธ์ วิชัยยนต์ อาสาสมัครแรงงานประจำตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม และผู้ใหญ่บ้านบ้านหนอง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วสภาพระบบนิเวศน์บริเวณแม่น้ำโขงบริเวณพันโขดแสนไคร้หน้าบ้านผมนับจากนี้ถอยหลังไปในห้วง 5 ปี จะมีน้ำขึ้นลงตามฤดูกาลโดยจะพบแม่น้ำโขงเหือดแห้งเฉพาะในช่วงหน้าแล้งช่วงเดือนเมษายน แต่ปัจจุบันเกิดวิกฤตแม่น้ำโขง บริเวณดังกล่าวเกิดแห้งแล้งตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ซึ่งนับว่าเกิดความพลิกผันอย่างรุนแรงตั้งแต่เคยเห็นมา ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านตามริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดความมั่นคงทางห่วงโซ่อาหารของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประชากรแม่พันธุ์ปลาและปลาในบริเวณดังกล่าวก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆจากสภาพระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันชาวประมงอาจสามารถจับปลาไปขายได้มากกว่ากว่าปกติ แต่ปีหน้าก็จะไม่มีแม่พันธุ์ปลาให้จับอีกแล้ว เพราะตราบใดที่น้ำโขงแห้งปลาก็ไม่สามารถมาวางไข่และเจริญเติบโตได้ ประชากรปลาก็จะลดลงไปทุกๆปี สำหรับวงจรชีวิตของปลาลุ่มน้ำโขงในสมัยก่อนนั้น จะพบว่าในช่วงหลังปีใหม่จะมีปลาขึ้นมาจำนวนมาก เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลาสร้อย ปลาหว้า ปลาบึก ปลาคัง ปลาโจก ประชาชนจะจับปลาขาย เป็นอาชีพหลักได้ปริมาณมาก บางคนได้ถึงวันละกว่า 100 กิโลกรัม และปลาจะวางไข่ในช่วงเดือน กรกฎาคม -สิงหาคม

นายพงษ์พันธ์ เผยต่อไปว่า แต่ก่อนในช่วงเดือนมกราคมประชาชนจะลงไปปลูกมันแกว พืช ผักสวนครัว ไว้บริโภคในครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริม เมื่อเกิดมีวิกฤตผันผวนของน้ำโขงเช่นนี้ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ได้เกษตรกรจึงไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรเหล่านี้ได้ต่อไป เพราะเวลามีความผันผวนของน้ำ ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเขื่อนต้องมีการกักเก็บน้ำ เท่าที่สังเกตดูน้ำจะแห้งประมาณ 1 อาทิตย์ และน้ำจะมาประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งไม่มีกำหนดที่แน่นอน นับว่าขาดโอกาสสำหรับอาชีพทำประมงในแม่น้ำโขงที่พึ่งพาธรรมชาติแบบเดิมอีกต่อไป ที่มีรายได้จากการจับปลาขายได้ปีละเป็นแสนบาท ตลอดจนสามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ในมุมมองของผมคิดว่า ประชาชนในพื้นที่คงไม่สามารถประกอบอาชีพประมงจากลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงเหมือนเดิมได้อีกต่อไป คงต้องวางแผนในการเลี้ยงปลาในบ่อในกระชังไว้บริโภคเอง ทดแทนห่วงโซ่การผลิตอาหารในแม่น้ำโขง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีท่านอธิบดีกรมประมงลงพื้นที่อำเภอสังคม เพื่อหาทางช่วยเหลือโดยจะทำศูนย์เพาะพันธุ์ปลาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวส่วนผลจะเป็นเช่นไรนั้นคงต้องติดตามในโอกาสต่อไป นอกจากนั้นหน่วยงานเกษตรและสหกรณ์และเกษตรจังหวัดหนองคาย ก็ได้มีการสำรวจภัยแล้งในนาข้าวเพื่อประกาศพื้นที่ภัยแล้งและมอบเงินช่วยเหลือ สำนักงานพัฒนาที่ดินได้ออกมาสำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือเรื่องการขุดสระน้ำเพื่อทำไว้ทำการเกษตรและเลี้ยงปลาเยียวยาปัญหาดังกล่าวต่อไป.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย