ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมหารือ เรื่องสินค้าเกษตรที่นำเข้า – ส่งออก และรับฟังข้อมูล ปัญหา อุปสรรค การขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่าน และการขนส่งผลไม้ทางราง โดยรถไฟจีน-ลาว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมหารือ เรื่องสินค้าเกษตรที่นำเข้า – ส่งออก และรับฟังข้อมูล ปัญหา อุปสรรค การขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่าน และการขนส่งผลไม้ทางราง โดยรถไฟจีน-ลาว

วันนี้ (27 ม.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ร่วมประชุมหารือ เรื่องสินค้าเกษตรที่นำเข้า – ส่งออก และรับฟังข้อมูล ปัญหา อุปสรรค การขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่าน และการขนส่งผลไม้ทางราง โดยรถไฟจีน-ลาว ร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย , ด่านศุลกากรหนองคาย , ด่านตรวจพืช สัตว์ ประมง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ฝั่งขาออก ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมฯ ว่า ภารกิจสำคัญของวันนี้คือการขับเคลื่อนในเรื่องของการเปิดเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว โดยในบ่ายของวันนี้ (27 ม.ค. 65) จะเป็นขบวนรถไฟขนสินค้าเกษตร (ปลายข้าวเหนียวหัก) ของไทยไปจีนเป็นขบวนแรก เริ่มเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ ผ่านด่านโมฮ่าน เข้าสู่จีนไปยังมหานครฉงชิ่ง ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ เป็นวันที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่าง จีน สปป.ลาว และไทย มีตัวผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทขนส่งใน สปป.ลาว มาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันยังจะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะร่วมกันสร้างอีสานเกตเวย์ ในกลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ ทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งหนองคายจะเป็นเกตเวย์เพราะเป็นด่าน ให้กับจังหวัดอุดรฯ หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ กลุ่มจังหวัดนี้จะเหมือนระเบียงเศรษฐกิจอีสาน ที่จะพัฒนาต่อไปให้มีศักยภาพไม่แพ้ EEC เพราะมีโลจิสติกส์ลิงค์คือมีเส้นทางรถไฟ ที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปสู่ตลาดจีนเท่านั้น แต่จะมีการเชื่อมโยงไม่สู่ตลาดเอเชียกลาง และตลาดในยุโรป ในวันนี้จึงได้มีการเชิญผู้แทนของบริษัทต่าง ๆ เพื่อมาร่วมกันพัฒนากับกลุ่มจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือในเรื่องของสถานีนาทา (หนองคาย) เส้นทางบริการโลจิสติกส์ เป็นความร่วมมือระหว่างอีสานเกตเวย์ กับคอคอดเกตเวย์ ซึ่งคอคอดคือท่าบกที่อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างจีนกับคาซัคสถาน เป็นเกตเวย์ไปสู่เอเชียกลางและยุโรป ฉะนั้นศักยภาพของอีสานเกตเวย์ไม่ได้มองแค่การขนส่งทางรถไฟไปประเทศจีนเท่านั้น แต่จะไปถึงเอเชียกลางและยุโรป

 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องของการเปิดด่านจะจุดผ่อนปรนต่าง ๆ เพื่อใช้ขนส่งสินค้าจะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แม้จะระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยมาก จนมีการคาดคะเนว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปีนี้ ดังนั้นการเปิดด่านฯ หรือการเปิดเศรษฐกิจ เปิดการค้าการท่องเที่ยว จะต้องมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่วันนี้ เหมือนที่เรามองเห็นโอกาสของเส้นทางขนส่งทางราง และไม่ใช่แค่ขนส่งสินค้าแต่อย่างเดียว แต่จะมีการขนคน ขนนักท่องเที่ยว ซึ่ง สปป.ลาว ยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีวัฒนธรรมที่สวยงาม และมีประชาชนที่มีความน่ารัก เมื่อมีการผนึกรวมกัน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีจำนวนมาก ก็จะใช้การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกัน และพร้อมที่จะมีการใช้เส้นทางนี้ รวมไปถึงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอุดรธานี ให้เป็นฮับของการขนส่งสินค้าและการขนส่งคนด้วย นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมในการแปรรูปสินค้าเกษตรอาหาร ที่จะช่วยเกษตรกรในการสร้างมูลค้าสูงให้กับสินค้าเกษตรโดยการแปรรูป ถือเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกในกลุ่มจังหวัดนี้

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีนนั้น ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ผวจ.หนองคาย ได้รับเรื่องนี้ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูรูปแบบของการเชื่องโยงข้อมูลระหว่างกันแล้ว เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายไทยและ สปป.ลาว ต่างก็มีความพร้อม เพียงแต่ว่าจะมีการเชื่อมโยงอะไรกันบ้าง

ส่วนการขนส่งผลไม้ไปจีนนั้น อยู่ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับจีน ในเรื่องของผลไม้เป็นข้อตกลงพิเศษ ซึ่งได้คาดหวังว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาวนี้ ภายในระยะครึ่งปีนี้ ก่อนถึงฤดูผลผลิต จะได้เร่งผลักดันให้ใช้การขนส่งโดยเส้นทางนี้ให้ได้ เพื่อเป็นเส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งในการขนส่งผลไม้ โดยได้มีการดำเนินการล่วงหน้าโดยทำพิธีสารตั้งแต่เดือนกันยายน 64 ซึ่งการขนส่งผลไม้ระหว่างไทย-จีนโดยผ่านประเทศที่สามนี้ต้องทำเป็นพิธีสาร ขณะนี้มีผลไม้อยู่ 22 ชนิด ด่านเข้า-ออก ก็ต้องมีการกำหนดในพิธีสาร จังหวัดหนองคายเพิ่งได้รับความเห็นชอบพิธีสารการขนส่งผลไม้ระหว่างไทย-จีนเมื่อวันที่ 13 กันยายน 64 ที่ผ่านมา ดังนั้นที่ผ่านมาจึงยังไม่มีผลไม้ผ่านที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย ขณะนี้รถไฟจีน-ลาว มีความพร้อมแล้ว เหลือเพียงด่านตรวจพืชที่ด่านโมฮ่าน เท่านั้นที่ยังไม่พร้อม ที่ไทยก็ได้เร่งรัดทางจีนไปแล้ว ดังนั้นการส่งออกปี 2564 ที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหาหลายอย่างแต่มูลค่าการส่งผลไม้จากไทยไปจีน มีมูลค่าที่สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ระยะเวลาเพียง 11 เดือน ไทยส่งผลไม้ไปจีนได้มากถึง 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% ที่สำคัญเฉพาะทุเรียนที่มีมูลค่าการส่งออกเกิน 1 แสนล้านบาท และบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวนี้ ตนเชื่อว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50% เมื่อวันนี้ถือเป็นวันแรกที่ไขกุญแจเปิดหวูดรถไฟได้ ก็จะต้องมีการส่งสินค้าเกษตรในครั้งต่อ ๆ ไปได้.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย