เรามีทางเลือก แต่กลับเลือกเดินหน้าฆ่าแม่น้ำโขงด้วยความเขลาและความโลภ... การสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี” ไม่คำนึงถึงคุณค่าความสำคัญของแม่น้ำโขง เหนือเขื่อนไซยะบุรีกับท้ายเขื่อน ความจริงที่ถูกปิดบัง

เพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “แม่น้ำโขงแตกต่างกันขนาดนี้ยังจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี ภาพถ่าย เปรียบเทียบแม่น้ำโขงเหนือเขื่อนจุดสะพานข้ามแม่น้ำโขงไซยะบุรีกับหลวงพระบาง กับแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนจุดบ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เหนือเขื่อนไซยะบุรีกับท้ายเขื่อน มีสภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงขนาดนี้ แล้วยังจะมาอ้างว่าเขื่อนไม่ได้กักเก็บน้ำได้อย่างไร”

 

 
 

ทั้งนี้ เมื่อหลายปีมาแล้ว กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อน (Seven Sins of Dam Building) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่พบบ่อยและนำไปสู่ความล้มเหลวของการลงทุนในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ความผิดพลาดที่คณะผู้ศึกษาเรียกว่าเป็นบาปเจ็ดประการประกอบด้วย

การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำผิดสาย

การเพิกเฉยต่อระบบนิเวศของกระแสน้ำใต้เขื่อน

การละเลยความหลากหลายทางชีวภาพ

การตกหลุมพรางหลักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง

การดำเนินการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

การจัดการความเสี่ยงและผลกระทบอย่างผิดพลาด

การหลงเชื่อผลประโยชน์ของเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว

เขื่อนไซยะบุรีมานาน เป็นโครงการเขื่อนในประเทศลาว แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากว่าเป็นเขื่อนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 1,285 เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของไทยคือ ช.การช่าง และได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินของประเทศไทย 6 แห่งได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ทิสโก้ และเอ็กซิมแบงค์ แม้จะมีความพยายามต่อสู้คัดค้านกันอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลลาว และบริษัทเอกชน รวมทั้งธนาคารของไทยก็ไม่สนใจ ดึงดันเดินหน้าก่อสร้างไปเรื่อยๆ จนโครงการเสร็จสิ้น และสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ไร้พรมแดน และผลกระทบต่อผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรประมงจากแม่น้ำสายนี้

ผลกระทบสำคัญประการแรก คือตะกอนและกรวดปริมาณมหาศาลจะถูกกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนความยาว 80 กิโลเมตร ต้องอย่าลืมว่าตะกอนที่ถูกสายน้ำนำพามาด้วยนั้นคือปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของแม่น้ำนั้นๆ ในทางกายภาพ การลดลงของปริมาณตะกอนจะส่งผลต่อเนื่องเรื่องการกัดเซาะตลิ่ง การสูญเสียพื้นกรวดที่เป็นแหล่งวางไข่สำคัญของปลาหลายชนิด และการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ปริมาณตะกอนที่ลดลงยังหมายถึงการลดลงของสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำในโตนเลสาบของเขมรและการก่อเกิดดินอุดมปากแม่น้ำของเวียดนาม

ผู้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีอ้างว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในรูปแบบของประตูระบายตะกอน หรือ Spillway ที่จะสามารถระบายตะกอนขนาดต่างๆ กันได้ แต่เทคโนโลยีที่ว่ายังแทบไม่เคยมีการทดลองใช้ที่ใดมาก่อน จึงน่าสงสัยว่าจะคุ้มกันหรือไม่ กับการนำมาทดลองใช้ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศขนาดนี้

ผลกระทบสำคัญประการที่สอง คือการขัดขวางการอพยพตามธรรมชาติของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการคุกคามความอยู่รอดของพันธุ์ปลาที่มีการอพยพตามธรรมชาติกว่า 160 ชนิด และอาจหมายถึงจุดจบแห่งสายพันธุ์ของปลาบึกซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นแม่น้ำโขงที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในธรรมชาติ  ปลาที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการขวางกั้นลำน้ำเหล่านี้คิดเป็นปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปลาที่จับได้ราว 900 ล้านตันต่อปี ปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบย่อมส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของชาวประมงหลายล้านครอบครัวริมฝั่งโขง

โครงการเขื่อนไซยะบุรีได้พาสื่อมวลชนไปดูโครงการ พร้อมกับอวด ‘ทางปลาผ่าน’ ที่อ้างว่าออกแบบมาสำหรับปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ มีทั้งการทำอุโมงค์ปลา (Fish Collecting Gallery) บันไดปลา (Fish Ladder) และช่องยกระดับให้ปลาเหมือนกับลิฟต์ โดยวิศวกรผู้ดูแลมั่นใจว่านี่คือระบบที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก แต่ก็อีกเช่นกันที่เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เคยมีการทดสอบมาก่อน และจากกรณีบันไดปลาโจนที่ถูกนำมาติดตั้งในเขื่อนปากมูล ก็เป็นบทเรียนสำคัญว่าเทคโนโลยีในต่างประเทศไม่สามารถนำมาใช้ได้กับปลาในแม่น้ำโขง คำถามสำคัญก็คือหากทางปลาที่เขื่อนไซยะบุรีติดตั้งไม่ได้ผล ทางโครงการมีแผนรองรับอย่างไร

ผลกระทบประการที่สาม คือการผันผวนของระดับน้ำที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเขื่อนจะส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ 200 กิโลเมตรใต้เขื่อนและอีก 80 กิโลเมตรเหนือเขื่อน ซึ่งรวมทั้งชุมชนในเจ็ดจังหวัดริมแม่น้ำโขงของประเทศไทย กรณีนี้เป็นคำถามสำคัญที่ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด แม้ว่าผู้สร้างเขื่อนไซยะบุรีจะยืนยันว่า เขื่อนนี้มีรูปแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) หรือให้นึกภาพว่าเป็นฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ โดยจะไม่มีการกักเก็บน้ำในปริมาณมากๆ เหมือนเขื่อนทั่วไป

แต่สถานการณ์ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศไทยในช่วงนี้ ที่แห้งขอดจนเป็นวิกฤตมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นฤดูฝน ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ผลสรุปเบื้องต้นระบุว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต คือ 1. ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลงอย่างผิดปกติ  2. เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน ลดการระบายน้ำโดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า และ 3. เขื่อนไซยะบุรี กำลังทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง

เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยแค่เพียง 195 กิโลเมตร คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยากว่ามีส่วนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงทดสอบระบบเท่านั้น เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ คงจะเห็นความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากการระบายน้ำของเขื่อนอีกมาก ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดผลกระทบในเชิงระบบนิเวศของสัตว์น้ำ เกาะแก่งและชายหาดในแม่น้ำโขงขนาดไหน

ความจริงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายใน พ.ศ. 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดในกรณีของเขื่อนไซยะบุรีก็คือเขื่อนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างเลย เพราะมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าในการแก้ปัญหาความยากจนของลาวและการตอบสนองความต้องการพลังงานของไทย การเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าความสำคัญของแม่น้ำโขง ไม่สนใจความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนนับล้านได้จากปลาน้ำจืด ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม เป็นบาปกรรมที่มีผลโดยตรงต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นบาปที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อีกหลายปีจากนี้ เมื่อผลกระทบต่างๆ ปรากฏชัดจนเกินเยียวยา การรณรงค์ให้มีการรื้อเขื่อนในแม่น้ำโขง อาจเป็นภารกิจสำคัญของคนรุ่นต่อไปเพื่อฟื้นชีวิตของแม่น้ำโขงให้กลับคืนมา (อ่านต่อได้ที่ https://www.the101.world/seven-sins-of-xayaburi-dam-building/)

 

ทั้งนี้สำนักข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างนำเสนอข้อมูลผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี อาทิ

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง....นักวิชาการประมง ชี้ปลาตื่นตัวหลงฤดูจากระบบน้ำที่ลดลงและผันผวน ทำปลาน้ำโขงสูญพันธุ์ (อ่านต่อได้ที่ https://siamrath.co.th/n/109465)

“เขื่อนไซยะบุรี” ปิดตำนานทางผ่านพญานาค แม่น้ำโขงเหือดแห้ง ปลาหลงฤดู ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง (อ่านต่อได้ที่ https://siamrath.co.th/n/109191)

“เขื่อนไซยะบุรี” จุดเริ่มต้นของหายนะสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง (อ่านต่อได้ที่ https://siamrath.co.th/n/109424)

วิกฤติแม่น้ำโขงแล้ง-ผันผวนหนัก ผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ทำน้ำโขงแห้งอีกรอบ (อ่านต่อได้ที่ https://siamrath.co.th/n/105605)

สูญสิ้นแล้ววัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง...เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนลาวสัญชาติไทย ทำประเพณี “บุญส่วงเฮือ” ที่ชาวบ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย เข้าร่วมทุกปี แต่ปีนี้เศร้าไม่ได้เข้าร่วม เหตุน้ำโขงแห้ง ผลกระทบจากเขื่อน (อ่านต่อได้ที่ https://siamrath.co.th/n/108170)

เมื่อกระแสโลกจับตา เขื่อนบนแม่น้ำโขง (อ่านต่อได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=23909)

หวั่น "เขื่อนไซยะบุรี" จุดเริ่มต้นของหายนะสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง (อ่านต่อได้ที่ https://www.voathai.com/a/laos-dam-xayaburi/5075109.html)

เสียงต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวกำลังยกฐานะไปเป็นแรงกดดันระดับประเทศ (https://www.voathai.com/a/mekong-dam-politics-ss-21apr11-120425069/924627.html)

ข้อมูลจาก เพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง และ https://www.the101.world/seven-sins-of-xayaburi-dam-building/

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย