ชาวบ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย รวมกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบธรรมชาติ มานานกว่า 5 ปี ก่อนจะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อต้นปี 64 น้ำผึ้งที่ผลิตได้ไม่พอขาย ปีนี้คาดมีกล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงผึ้งประมาณ 2,000 กล่อง จะให้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 16,000 ขวด (750 มล.) สร้างรายได้ให้กับสมาชิกฯที่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย รวมกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบธรรมชาติ มานานกว่า 5 ปี ก่อนจะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อต้นปี 64 น้ำผึ้งที่ผลิตได้ไม่พอขาย ปีนี้คาดมีกล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงผึ้งประมาณ 2,000 กล่อง จะให้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 16,000 ขวด (750 มล.) สร้างรายได้ให้กับสมาชิกฯที่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้มารวมกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบธรรมชาติ เมื่อ 5 ปี หลังจากที่พบว่านายอาโน ร่มเย็น (ประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท) ที่ได้ศึกษาการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบลองผิดลองถูกมาหลายปีได้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า มีน้ำผึ้งขายเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนายอาโน ก็ได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านที่สนใจอยากจะเลี้ยงผึ้งโพรงป่าเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ เริ่มจากไม่กี่คนจนล่าสุดมีชาวบ้านที่เลี้ยงผึ้งโพรงป่าแล้วจำนวน 34 คน จำนวนกล่องที่เลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทำให้มีผลผลิตน้ำผึ้งเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ล่าสุดได้จัดตั้งเป็น สหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท จำกัด เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร สำนักงานตั้งอยู่ เลขที่ 222 หมู่ที่ 4 บ้าน ไทยเจริญ ตำบล พระพุทธบาท อำเภอ ศรีเชียงใหม่ จังหวัด หนองคาย ได้รับการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564ในระยะแรกตั้งมีผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกรวม 34 คน ถือหุ้นแรกตั้ง จำนวน 630 หุ้น เป็นเงินค่าหุ้น 6,300 บาท (หกพันสามร้อยบาทถ้วน)

 

สำหรับผึ้งโพรงป่านั้น ปกติก็จะทำรังตามโพรงของต้นไม้ในป่า หรือทำรังในโพรงใต้ดิน แตกต่างจากผึ้งหลวงที่ทำรังบนต้นไม้ ขนาดตัวผึ้งโพรงป่าก็จะมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง ที่สำคัญไม่ดุเหมือนผึ้งหลวง ซึ่งการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าของชาวบ้านไทยเจริญ นั้น จะเลี้ยงแบบวิธีธรรมชาติ คือสร้างกล่องไม้ไม่จำกัดขนาด แต่ส่วนใหญ่จะกว้าง 35 ซม. ยาว 50 ซม. และสูง 40 ซม. เจาะรูขนาดเล็กบริเวณด้านล่างกึ่งกลางด้านที่เป็นความกว้างของกล่อง ด้านบนกล่องจะเป็นฝาปิด ที่สามารถปิด-เปิดได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ผึ้งที่ทำรัง ไม่ได้มีคานไม้สำหรับให้ผึ้งทำรัง หลังทำกล่องเสร็จก็จะทาด้วยเสน่ห์ผึ้ง (ทำจากรังผึ้งที่นำไปต้มแล้วมาปั้นเป็นก้อน)มาทาที่ลังให้ทั่วลนด้วยไฟให้เสน่ห์ผึ้งซึมเข้าเนื้อไม้ เน้นรูที่ให้ผึ้งเข้า ด้านในลังส่วนบน และฝาลัง จากนั้นก็จะนำกล่องไม้ไปตั้งตามป่าเพื่อล่อผึ้งให้เข้ามาทำรัง ตั้งไว้ประมาณ 2 – 3 วันก็จะมีเข้ามาทำรังในกล่องที่ล่อไว้ เมื่อเห็นผึ้งเข้ามาในกล่องมากพอแล้วก็จะนำกล่องมาตั้งเลี้ยงไว้ในจุดที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหลังบ้าน หรือสวนยางข้างบ้าน ที่สามารถดูแลได้ไม่ให้ใครเข้ามาขโมย ไม่ต้องหาอะไรให้ผึ้งที่เลี้ยงกิน ผึ้งจะออกไปหาอาหารตามธรรมชาติเอง คนเลี้ยงมีหน้าที่ทำกล่องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผึ้งได้แยกตัวออกจากรังที่มีผึ้งจำนวนมากมาทำรังที่กล่องใหม่ ช่วงระยะเวลาที่ล่อผึ้งเข้ารังคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงที่ผึ้งจะเข้ากล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงดีที่สุด และเป็นช่วงที่ผึ้งจะแยกไปตามกล่องไม้ได้มากที่สุด คือจาก 1 กล่อง แยกเพิ่มเป็น 6 กล่อง จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ที่ถือเป็นเดือนห้า ก็จะเป็นช่วงเก็บน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุด หลังเก็บน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะปล่อยผึ้งคืนสู่ป่า เพราะในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยมีเกสรดอกไม้ที่ถือเป็นอาหารของผึ้ง หากเราเลี้ยงไว้ผึ้งจะตาย ดังนั้นเราจึงให้ผึ้งกลับไปอยู่ในธรรมชาติในช่วงนั้นก่อน เมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะไม่มีการนำกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงไปล่อ ผึ้งที่เคยเลี้ยงก็จะกลับมาที่กล่องไม้เอง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี

 

กล่องไม้ที่เลี้ยงผึ้ง 1 กล่องจะให้น้ำผึ้งตั้งแต่ 3 – 15 ขวด (750 มล.) ขึ้นอยู่กับขนาดของกล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงและจำนวนผึ้งเข้าไปทำรัง โดยเฉลี่ยแล้ว 1 กล่องจะได้น้ำผึ้งประมาณ 8 – 10 ขวด ส่วนเรื่องตลาดนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทุกปี ไม่พอขาย โดยน้ำผึ้งที่ได้จะนำมารวมกันขายที่ร้านค้าของกลุ่มสหกรณ์ฯ ใครต้องการหรือมีลูกค้าก็มาซื้อที่ร้านค้าฯได้เลย เป็นการช่วยกันขาย ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 300 – 400 บาท ถือเป็นราคาที่ดี ปีนี้มีผึ้งโพรงที่เข้ากล่องที่เลี้ยงแล้วประมาณ 1,400 กล่อง คาดเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 65 จะมีมากถึง 2,000 กล่อง จะทำให้ผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 16,000 ขวด นอกจากจะขายน้ำผึ้งเป็นขวดแล้ว ยังมีการขายตัวอ่อน และรังผึ้งแบบสด ๆ อีกด้วย          

 

นายนัตร กุลวงษ์ อายุ 55 ปี กรรมการกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท บอกว่า การทำกล่องไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งนั้น หลังทำกล่องไม้เสร็จจะยังไม่มีผึ้งเข้ามาทำรังในกล่อง ต้องใช้เสน่ห์ผึ้ง มาทาที่ลังให้ทั่วลนด้วยไฟให้เสน่ห์ผึ้งซึมเข้าเนื้อไม้ เน้นรูที่ให้ผึ้งเข้า ด้านในลังส่วนบน และฝาลัง โดยเฉพาะส่วนฝาลัง ให้ทาแบบสลับฟันปลา เพื่อให้ผึ้งทำรังได้เต็มพื้นที่ หลังทาเสน่ห์ผึ้งในกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงผึ้งเสร็จก็จะนำกล่องไม้ไปวางไว้ตามป่า ตามสวน เพื่อล่อให้ผึ้งเข้ามาทำรัง เมื่อมีผึ้งเข้ามาทำรังในกล่องไม้แล้วก็จะนำกล่องไม้กลับมาตั้งไว้ในจุดที่จะใช้ในการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งเป็นจุดที่ดูแลง่ายและไม่ให้มีใครมาขโมย เมื่อเห็นว่าผึ้งที่เลี้ยงในกล่องไม้มีจำนวนมากขึ้นจนเริ่มแน่น ก็จะทำกล่องไม้มาวางไว้ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ผึ้งได้เข้ามาทำรัง ทำให้ได้กล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายนัตร เล่าต่อไปอีกว่า สำหรับระยะเวลาในการนำกล่องไม้ไปตั้งไว้ตามป่าเพื่อให้ผึ้งเข้ามาทำรังนั้นระยะเวลาไม่แน่นอน บางครั้งตั้งไว้เพียง 2 – 3 วันก็มีผึ้งกับเข้ามาเพื่อทำรังเป็นจำนวนมากแล้ว บางครั้งเอาไว้เป็นเดือนก็ไม่มีผึ้งเข้ามาเพื่อทำรังในกล่องไม้ที่วางล่อไว้ ก็ต้องย้ายที่ตั้งกล่องไปยังจุดอื่น ส่วนจำนวนผึ้งที่เข้ามาเพื่อทำรังในกล่องจะมากน้อยต่างกัน อยู่ที่จุดที่เรานำกล่องไปตั้งล่อไว้ หลังจากผึ้งเข้ากล่องเพื่อทำรังแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์ต้องหากลับมาตั้งในจุดที่จะใช้เลี้ยง หาช้ากว่านั้นจะทำให้รังผึ้งในกล่องเสียหายในช่วงที่ขนย้ายกล่อง เพราะผึ้งหลังจากที่เข้ากล่องก็จะรังทันที

ทางด้านนายอาโน ร่มเย็น อายุ 41 ปี ประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท บอกว่าผึ้งที่ทางกลุ่มฯเลี้ยงเป็นผึ้งป่า ซึ่งเมื่อถึงฤดูล่อผึ้งเข้ากล่องที่เลี้ยงคือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงที่ผึ้งจะเข้ากล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงดีที่สุด และเป็นช่วงที่ผึ้งจะแยกไปตามกล่องไม้ได้มากที่สุด คือจาก 1 กล่อง แยกเพิ่มเป็น 6 กล่อง จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ที่ถือเป็นเดือนห้า ก็จะเป็นช่วงเก็บน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุด หลังเก็บน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะปล่อยผึ้งคืนสู่ป่า เพราะในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยมีเกสรดอกไม้ที่ถือเป็นอาหารของผึ้ง หากเราเลี้ยงไว้ผึ้งจะตาย ดังนั้นเราจึงให้ผึ้งกลับไปอยู่ในธรรมชาติในช่วงนั้นก่อน เมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะไม่มีการนำกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงไปล่อ ผึ้งที่เคยเลี้ยงก็จะกลับมาที่กล่องไม้เอง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี

ประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท กล่าวต่อไปอีกว่า การเลี้ยงผึ้งโพรงป่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องหาอะไรให้ผึ้งกิน เพียงแต่มีกล่องที่ตั้งไว้ในจุดที่เหมาะสม มีงานอะไรก็ไปทำไม่ต้องพาผึ้งไปหากิน ไม่ต้องใส่รถไปไหน ถ้าผึ้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ทำกล่องไม้มาตั้งเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผึ้งได้แยกจากกล่องไมเดิมเข้าไปทำรังในกล่องไม้ใหม่ เรามีหน้าที่เพียงทำกล่องไม้ไว้รอ ผึ้งก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี กล่องไม้ที่เลี้ยงผึ้ง 1 กล่องจะให้น้ำผึ้งตั้งแต่ 3 – 15 ขวด (750 มล.) ขึ้นอยู่กับขนาดของกล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงและจำนวนผึ้งเข้าไปทำรัง โดยเฉลี่ยแล้ว 1 กล่องจะได้น้ำผึ้งประมาณ 8 – 10 ขวด ส่วนเรื่องตลาดนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทุกปี ไม่พอขาย โดยน้ำผึ้งที่ได้จะนำมารวมกันขายที่ร้านค้าของกลุ่มสหกรณ์ฯ ใครต้องการหรือมีลูกค้าก็มาซื้อที่ร้านค้าฯได้เลย เป็นการช่วยกันขาย ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 300 – 400 บาท ถือเป็นราคาที่ดี

ผู้ที่สนใจน้ำผึ้งธรรมชาติ หรือสนใจการเลี้ยงผึ้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับนายอาโน ร่มเย็น ประธานกลุ่มฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 080-0036040.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย