ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก หลังแก๊งเรี่ยไรอ้างมูลนิธิ ใน กทม. เดินสายเรี่ยไรถึงหนองคาย อ้างนำเงินช่วย 13 นักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษ พบพื้นที่ อ.ศรีเชียงใหม่ ปลัดอำเภออนุญาตเอง สื่อตรวจสอบพบหนองคายคือทำเลทองของแก๊งนี้ เหตุเจ้าหน้าที่ไม่จับกุม

วันที่ 4 ตุลาคม 2562 มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “แค่เด็กบ้าน.บ้าน ที่รักเธอ” ได้โพสต์ลงในกลุ่มคนจังหวัดหนองคาย มีรายละเอียดดังนี้ “ขอสอบถามหน่อยคับมูลนิกู้ภัยในหนองคายออกเรี้ยไรเงินตามหมู่บ้านได้ด้วยเหรอครับ..พอดีว่าผมเจออยู่ที่ตำบลบ้านหม้ออำเภอศรีเชียงใหม่นะคับ”

โดยภายหลังจากที่มีการโพสต์ลงในกลุ่มคนจังหวัดหนองคาย มีการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากว่าต้องการให้ผู้แจ้งหากพบเห็นกรณีดังกล่าวให้แจ้งตำรวจท้องที่จับกุมได้ทันที เนื่องจากเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน หากตำรวจไม่จับกุมจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยผู้โพสต์ยังบอกอีกว่ากลุ่มคนที่มาเรี่ยไรอ้างจะนำเงินไปช่วยเหลือน้องๆนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ที่เสียชีวิต 13 ราย ที่ จ.สมุทรปราการอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของสื่อมวลชน พบว่า กู้ภัย หรือมูลนิธิในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จะไม่มีการออกเดินสายเรี่ยไรในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกช่วยเหลือประชาชน และนำสิ่งของไปแจกให้ประชาชน ซึ่งพฤติกรรมของสมาคมฯแห่งนี้ที่ดำเนินการอยู่ได้สร้างความเสื่อมเสียให้อีกหลายหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมเป็นอย่างมาก

จากการตรวจสอบเอกสารการเรี่ยไรพบว่าหัวกระดาษเป็นชื่อ สมาคมกู้ภัยสว่างพรพัฒนาการกุศล ตั้งอยู่เลขที่ 316/78 ซอยลาดพร้าว 87 (จันทราสุข) แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โดยเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ขอรับบริจาคในเขตพื้นที่ของท่าน ในการจัดหาทุนนอกสถานที่ของสมาคมกู้ภัยสว่างพรพัฒนาการกุศล โดยหนังสือเรียน นายอำเภอ,ปลัดอำเภอ อำเภอศรีเชียงใหม่ และยังพบว่ามี นายสมบูรณ์ เดชา ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.ชำนาญการ รักษาราชการแทนนายอำเภอศรีเชียงใหม่) เป็นคนเซ็นอนุญาตให้ออกเรี่ยไร โดยกำชับให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเรี่ยไร อย่างเคร่งครัด

สำหรับเรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนักกฎหมาย ทราบว่า การเรี่ยไร หรือเข้าข่ายการขอทาน การขอทานเป็นเรื่องผิด เพราะมีกฎหมายออกมาใหม่ เป็น พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน 2559 ในมาตรา 13 ห้ามบุคคลใดทำการขอทาน ซึ่งการขอทานหมายความว่า ขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความหรือกิริยาอาการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสาร และส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ การขอทานนี้มีโทษตามกฎหมายมาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีที่มีการโพสต์ข้อความขอเงินผ่านเฟซบุ๊ก ก็ถือว่าเป็นการขอทานผ่านข้อความ เป็นการใช้ข้อความเพื่อขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่น จึงเข้าข่ายเป็นการขอทานแล้ว โดยเฉพาะการขอรับบริจาคอื่นๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องระวัง เพราะมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเยอะ คนกลุ่มนี้มักใช้คำพูดในเชิงจิตวิทยา ด้วยการขอรับบริจาคจำนวนน้อยจากกลุ่มคนจำนวนมาก เมื่อรวมยอดเงินทั้งหมดอาจเป็นจำนวนมหาศาลได้

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลธรรมดา หากต้องการรับบริจาคเรี่ยไรเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ จะต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นขออนุญาตได้ที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นได้ที่ อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ ถ้าหากไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องอาจถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง แถมพ่วงข้อหาคดีอื่นอีกด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยบอกไว้ว่า กรณีมีผู้เผยแพร่ข้อความในโซเชียลมีเดีย ลักษณะเรี่ยไรเงินหรือการขอรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือการกุศล แต่ไม่ได้ทำจริง และไม่ได้ขออนุญาตถูกต้อง จะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

โดยชาวหนองคายส่วนใหญ่บอกกับผู้สื่อข่าวว่า พื้นฐานนิสัยของคนไทย โดยเฉพาะชาวหนองคายชอบทำบุญ ชอบช่วยเหลือคน การให้เงินถือเป็นการทำบุญ จึงเลยกลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพหาเงินได้ง่ายๆ แต่ถ้าเจตนาดีก็ขออนุญาตเรี่ยไรให้ถูกต้องจะดีที่สุด.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย