สำนักพระราชวัง มอบสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัดกว่า 300 ราย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง จากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

สำนักพระราชวัง มอบสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัดกว่า 300 ราย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง จากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

วันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายประชาชน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พร้อมประชาชน 13พื้นที่รวม 300 ราย ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานความช่วยเหลือด้านพัฒนาอาชีพ ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง (เขื่อนไซยะบุรี) ส่งผลให้เกิดการผันผวนของกระแสน้ำจนกระทบต่อการดำรงชีวิตของราษฎรที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศดั้งเดิมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

 

โดยทางสำนักพระราชวังได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)  โดยมี นายหทัย  วสุนันต์  ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พร้อมด้วย นายธนฤทธิ์  รัชตะประกร   ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานที่ 22 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการประชุมร่วมกับตัวแทนราษฏร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ (2 เม.ย.) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย โดยมี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดหนองคายร่วมประชุม และมีผู้แทนราษฎร 4 พื้นที่จากตำบลปากชม ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย และตำบลบ้านม่วง ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดเลยเข้าร่วม ประมาณ 70 คน

 

 

ในที่ประชุม นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา ผู้แทนราษฎรได้มีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาแม่น้ำโขงในภาพรวม ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และผู้แทนทั้ง 4 พื้นที่ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาต่อสำนักงาน กปร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ไขปัญหายังต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัดทั้ง  7 จังหวัด เพื่อทำการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบในการจัดทำข้อมูลแผนงานโครงการที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน โดยทางสำนักงาน กปร. จะประสานไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 7 จังหวัดเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายนายหทัย  วสุนันต์  ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำนักงาน กปร.ได้เน้นย้ำว่า การดำเนินงานทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมาย ที่สามารถทำได้ เนื่องจากในที่ประชุมมีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหา ข้อจำกัดการปรับตัวจากแม่น้ำโขงผันผวนและไม่สามารถเข้าถึงบริการจากโครงการพัฒนาของรัฐ เพราะราษฎรขาดเอกสารสิทธิ์เนื่องจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อปลา การพัฒนาแหล่งน้ำ และอาจต้องศึกษาดูงานที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็จะช่วยให้ราษฎรมีมุมมองในการคิดค้นการพัฒนาอาชีพรายได้เพิ่มขึ้น  ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นปัญหาระดับภูมิภาค และในหลายเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหา และ กปร. สามารถดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาเร่งด่วน เรื่องพัฒนาอาชีพรายได้เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าช่วยราษฎรในเบื้องต้น ในระยะกลางและระยะยาว ต้องอาศัยหน่วยงานทุกฝ่ายดำเนินการช่วยกัน.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย