เขื่อนเรียงรายกั้นโขง!!! เมื่อโขงสีปูน กลายเป็นโขงสีคราม หายนะของแม่น้ำโขงที่ถูกล่ามโซ่จากนักสร้างเขื่อน

กรณีเกิดปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคล้ายน้ำทะเลหรือสีครามสวยงาม สร้างความตื่นตาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น ทั้งนี้คนที่ไม่รู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงก็จะมองเป็นความสวยงาม อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการที่ติดตามศึกษาระบบนิเวศลำน้ำโขงกลับมองถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่าเป็นความผิดปกติที่นำไปสู่ผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตในลำน้ำนานาชาติสายใหญ่สายนี้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ไม่ต่างจากหายนะที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง สีของน้ำในแม่น้ำโขงที่เป็นสีครามเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอนในน้ำ และการใสไร้ตะกอน ผิวน้ำจึงเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนแสงของท้องฟ้ากลายเป็นสีคราม แต่หากลงไปดูดีๆ น้ำในแม่น้ำโขงใสมาก ทางวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า "hungry river" แปลว่า "ภาวะไร้ตะกอน" แต่จะให้เข้าใจเลยก็คือเกิดภาวะ "สายน้ำที่หิวโหย"

 

สายน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการกษัยการ (หรือการพังทลาย) ของหินและดินหอบมากับสายน้ำ ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำโขง เมื่อน้ำโขงไหลไปตามสายน้ำ และมีแม่น้ำสาขาไหลลงมาบรรจบก็จะทำให้เกิด "แม่น้ำสองสี" ในแทบทุกที่ เช่น ที่ปากมูลก็เกิดแม่น้ำสองสี จนมีคำเรียกขานติดปากว่า "โขงสีปูน มูลสีคราม" คือน้ำสาขาจะมีสีคราม แต่น้ำโขงมีสีปูน

ทุกวันนี้แม่น้ำโขงกลายเป็น "Hungry Mekong" เพราะหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จก็มีการกักเก็บน้ำไว้เหนือเขื่อนจนกระทั่งน้ำท้ายเขื่อนแห้งและปลาตาย มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเหนือเขื่อนไซยะบุรีมีน้ำเต็มและนิ่ง ขณะที่ท้ายเขื่อนน้ำแห้ง หลายแห่งที่เคยมีน้ำมองดูราวกับทะเลทรายเหลือแต่น้ำในร่องน้ำลึกที่ยังไหล ถ้าน้ำโขงกว้างก็จะไหลเอื่อย หากแคบมีแก่งน้ำก็พอยังจะเชี่ยว แต่ไม่ได้ไหลแรงตามธรรมชาติ โดยเขื่อนจะปล่อยน้ำในช่วงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเรียกง่ายๆ ว่าตอนนี้เขื่อนได้ควบคุมน้ำโขงไว้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า น้ำโขงถูกล่ามโซ่

เมื่อน้ำโขงถูกควบคุม น้ำเหนือเขื่อนที่ลึกและนิ่ง ทำให้ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำเหนือเขื่อนและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน การปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์ต้องมีระดับน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า head เขื่อนไหนๆ ก็มี เขื่อนไซยะบุรีที่เรียกว่าเขื่อนน้ำไหลผ่าน (run-off river dam) ก็ต้องมี head และ head ที่นี้ก็หลายสิบเมตร น้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ลงท้ายเขื่อนจึงเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน

 

กรณีแม่น้ำโขง นอกจากตะกอนทับถมเหนือเขื่อนแล้ว ทางท้ายเขื่อน เมื่อน้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิม บริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าน้ำท่วม (ป่าไคร้) เช่น ที่พันโขดแสนไคร้ น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้ง บริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ ตามธรรมชาตินี่แหละที่ทำให้หาดทราย ป่าไคร้ เป็นบ้านของสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งหอย ปู ปลา กุ้ง ที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำที่ไหลมาจากข้างบน การที่น้ำโขงแห้งเพราะถูกล่ามโซ่ นอกจากทำให้ต้นไม้ตายเพราะไม่จมอยู่ใต้น้ำตามวัฏจักรแล้ว สัตว์น้ำจำนวนมากก็ตายด้วย และยังทำให้ตะกอนที่พอจะเหลือจากที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนเกิดการตะกอนอีกครั้ง ป่าไคร้ที่พันโขดแสนไคร้จึงมีตะกอนทับถมสูง บางจุดตะกอนทับถมเหลือแต่ปลายต้นไคร้ บางจุดสูงมากกว่า 2 เมตรเมื่อตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อนและยังตกตะกอนบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายและป่าน้ำท่วม ยิ่งไกลจากท้ายเขื่อนน้ำก็ยิ่งใสราวกระจก และเมื่อสะท้อนแสงจากท้องฟ้าก็ยิ่งกลายเป็นสีคราม แต่คือสัญญาณอันตรายของแม่น้ำสายนี้ เมื่อสายน้ำโขงเกิดภาวะไร้ตะกอน ความอุดมสมบูรณ์ของพืชน้ำก็ลดตามลง 

เมื่อพันธุ์พืชไม่อุดมสมบูรณ์ ปลาที่กินพืชเป็นอาหารก็จะลดลง และปลาที่กินเนื้อก็จะขาดอาหารไปด้วย คือหายนะที่เกิดกับแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะปลากินพืชที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ปลาทั้ง 1,300 สายพันธุ์ก็กระทบไปหมด การล่ามโซ่แม่น้ำ ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำลดจะขาดความอุดมสมบูรณ์ นักสร้างเขื่อนไม่รู้หรอกว่าตะกอนที่พัดพามาทับถมในฤดูน้ำหลากคือปุ๋ยธรรมชาติที่ดีที่สุด และทำให้ริมฝั่งโขงเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สมบูรณ์ที่สุดในอีสาน

การเยียวยาแม่น้ำโขงมีไม่มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดกลุ่มทุนที่ยึดแม่น้ำโขงไปทำเขื่อนต้องเสียสละ หยุดปั่นไฟ และต้องรีบปฏิบัติการระบายตะกอน แต่มาตรการนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฟื้นฟูแม่น้ำโขงให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้

นี้คือหายนะของแม่น้ำโขงอย่างสมบูรณ์แบบ...

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย