เครือข่ายลุ่มน้ำโขง เผยขอความช่วยเหลือทางวิชาการคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ผนึกกำลังช่วยพลับพลึงธารแม่น้ำโขง หลังชุมชนหวั่นสูญพันธุ์จากผลกระทบการสร้างเขื่อน

เครือข่ายลุ่มน้ำโขง เผยขอความช่วยเหลือทางวิชาการคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ผนึกกำลังช่วยพลับพลึงธารแม่น้ำโขง หลังชุมชนหวั่นสูญพันธุ์จากผลกระทบการสร้างเขื่อน

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เปิดเผยว่า หลังจากที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำโขง วิตกกังวลกับพืชประจำถิ่นที่กำลังล้มหายตายจาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ส่งผลให้พืชพรรณธัญหาร ปลาพื้นถิ่นหายไปหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ "พลับพลึงแม่น้ำโขง"  ธรรมชาติของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ น้ำหลาก จะอยู่ใต้น้ำ หน้าแล้งจะชูช่อ บานสะพรั่ง กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอก สวยสดใสไม่ต่างกับพลับพลึงธารที่ระนอง และพังงา แต่ใบไม่ยาวรี เหมือนพลับพลึงธาร พบมากในระบบนิเวศที่เป็นแก่งหิน บริเวณเชียงคาน ปากชม จ.เลย และ อ.สังคม จ.หนองคาย ดินแดนพันโขดแสนไคร้ ครั้งหนึ่งที่จังหวัดหนองคาย ชูเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว นอกจากความเขียวชะอุ่มของต้นไคร้น้ำนับแสนๆต้น และโขดหินหลากสี บ้างเขียว บ้างน้ำตาล บ้างสีปูน ยังมีพลับพลึงโขงปะปนอยู่

กลางปี 2562 หลังน้ำโขงลดระดับลงอย่างรวดเร็วและแห้งยาวถึงเกือบกลางปี 2563 อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำโขงของเขื่อนในประเทศต้นน้ำ  พลับพลึงเหล่านี้ แห้งตาย เราเองก็ได้แต่หวั่น ลุ้นว่าจะรอดไหมหนอ คิดถึงความงาม ความหอมอ่อน บรรยากาศนั่งเรือมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งยามเช้า วันที่เราและน้องๆแกนนำชาวบ้าน บ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ลงสำรวจพื้นที่ และแอบเก็บมาจำนวนหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ว่า นางจะรอดในบรรยากาศใด

 

สองปีผ่านไป หลังจากเลี้ยงในกระถาง นางไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต ไม่ยอมขยายพันธุ์ อาจเพราะระบบรากที่ยาว ยึดแน่นทรายและแก่งหินแม่น้ำโขง พอมาอยู่ในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ก็ไม่ยอมเติบโต  เผยดอกให้เชยชมแค่ดอกเดียว ครั้งเดียว จากนั้นอยู่ในสภาพเหมือนคนอมทุกข์ อมไข้ 

วันที่ประชุมกับพี่ๆเพื่อนๆ จากกรมประมง เราตัดสินใจมอบพลับพลึงน้ำโขงให้ "ผอ.ต่อ"  ชายหนุ่มอัธยาศัยดี ผู้ทำงาน แม้จะเหน็ดเหนื่อยยุ่งยาก แต่ใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา ขณะนั้น "ผอ.ต่อ" เป็นผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการประมงน้ำจืดขอนแก่น (เขื่อนอุบลรัตน์) ปัจจุบันย้ายจากลุ่มน้ำโขง ไปดำรงตำแหน่งผอ.ที่ศูนย์ฯจ.พะเยา  เนื่องจากทราบว่า แม่บ้าน ผอ.ต่อ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วข.สกลนคร

สองปีผ่านไป เช้านี้ได้รับข่าวดีจาก ผอ.ต่อ ประมุข ฤาแก้วมา (Pramook Rukaewma)  ว่าพลับพลึงธารแม่น้ำโขงของเรา กำลังอยู่ระหว่างการทดลองเพาะเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์ เรามีหวังอีกครั้ง กับงานครั้งนี้

 

“ส่งข่าว เป็นกำลังใจกับคนโขงค่ะ ว่าอย่างน้อย เราช่วยนางงามแห่งลุ่มน้ำโขง ได้เรื่องหนึ่งที่เรากังวลกับความหายไปจากเงื้อมมือมนุษย์  ที่ไร้หัวใจยินยลความงามของสายนทีแห่งชีวิต ธุรกิจนักสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ขอบคุณ ผศ.ดร.นิศาชล ฤาแก้วมา คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วข.สกลนคร” นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าว.

 

 
กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย