วิกฤตน้ำโขง เขื่อนเรียงคิวเปิดตัว ปลาเสี่ยงสูญพันธุ์... วัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย ทำพื้นที่ริมแม่น้ำโขง เป็นเขตอภัยทาน เขตแห่ง "อิสระชีวิตสรรพสัตว์" ต่อทุกชีวิตบนสายน้ำโขง

วิกฤตน้ำโขง เขื่อนเรียงคิวเปิดตัว ปลาเสี่ยงสูญพันธุ์... วัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย ทำพื้นที่ริมแม่น้ำโขง เป็นเขตอภัยทาน เขตแห่ง "อิสระชีวิตสรรพสัตว์" ต่อทุกชีวิตบนสายน้ำโขง

คำว่า "เขตอภัยทาน" ปกติแล้วพุทธศาสนิกชนจะเห็นคำคำนี้ติดไว้ภายในวัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำคลองจะมีป้ายเหล่านี้ติดไว้ให้เห็นเด่นชัด จุดประสงค์เพื่อเป็นการเตือนสติผู้คนไม่ให้ทำเวรทำกรรมด้วยการ "ล่าสัตว์น้ำ" ไม่ว่าจะเพื่อความสนุก หรือนำไปเป็นอาหารเพื่อบริโภคก็ตาม ซึ่งที่วัดหายโศก หมู่ 1 ต.สังคม อ.สังคม จ.หนองคาย ก็เป็นอีกวัดที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง โดยจัดให้มีเขตอภัยทาน ห้ามจับปลา ล่าปลาด้วยเครื่องมือจับปลาทุกชนิด

 

พระอธิการพิทักษ์ชัย จารุธฺมโม เจ้าอาวาสวัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย เจริญพรว่า เขตอภัยทาน แปลความแบบชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ก็คือ "บริเวณการให้ชีวิต การให้อภัยเป็นทาน" สัตว์ในเขตอภัยทานไม่ได้เป็นสมบัติของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด และสัตว์สามารถอยู่ในเขตนั้นได้ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยวัดหายโศกได้ทำพื้นที่ตรงนี้เป็นเขตอภัยทาน เป็นที่อนุรักษ์ปลา เป็นที่ให้ปลาหลบภัย เพราะช่วงนี้แม่น้ำโขงผันผวน ที่ไหนปลอดภัยปลาก็จะมาอยู่ ภายหลังจากที่ทำเป็นเขตอภัยทาน ปลาหลายชนิดจะมาอาศัยอยู่ ทั้งปลาบึก ปลาสวาย ฯ “ปลาที่มาอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นปลาแม่น้ำโขงที่มาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และหากวัดไหนสนใจอยากมาศึกษาก็ยินดี มีประชาชนมาให้อาหารปลาทุกวัน จึงอยากเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาให้อาหารปลาซึ่งถือเป็นการทำบุญ” พระอธิการพิทักษ์ชัย จารุธฺมโม เจ้าอาวาสวัดหายโศก เจริญพร

 

พระอธิการพิทักษ์ชัย จารุธฺมโม เจ้าอาวาสวัดหายโศก อธิบายความต่อว่า ให้อภัย ให้ความไม่มีภัย ให้ความปลอดภัย ซึ่งจัดเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง คือ ให้ความรักความเมตตาต่อสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดความปลอดภัย เกิดความอบอุ่น หากให้อภัยทานแก่มนุษย์ด้วย ก็จะทำให้ไม่มีเวรมีภัยต่อกันอีกต่อไป ผู้ให้อภัยทานได้ชื่อว่าเป็นคนประพฤติเมตตาธรรม เป็นคนมีจิตใจสูงเทียบเท่าพรหม “อภัยทาน” คือ การยกโทษ แสดงอโหสิกรรมต่อกัน

ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมสัตว์น้ำของกรมประมงพบว่า สัตว์น้ำจะสามารถอยู่อาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีโดยไม่ถูกทำลายให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง คือแหล่งน้ำบริเวณหน้าวัด หรือพระอารามต่างๆ ซึ่งจะมีเขตอภัยทาน และทางราชการได้ประกาศเป็นเขตที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ประชาชนโดยทั่วไปจะไม่ทำการประมงในบริเวณดังกล่าว และมีกฎหมายคุ้มครอง จึงเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์น้ำหน้าวัดให้เป็นแหล่งอาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ปลาในธรรมชาติได้อย่างดี ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490

โดยเป็นที่รู้ดีในวงการสงฆ์ว่า วัดทุกวัด ถือเป็นเขตอภัยทาน แม้มิได้ประกาศหรือขึ้นป้ายใดๆ ให้ถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดการทำร้ายทำอันตรายแก่ชีวิตคนและสัตว์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ให้วัดต่างๆ กำหนดเขตอภัยทานขึ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก ได้อาศัยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากการถูกเบียดเบียนหรือถูกรบกวนด้วยประการใดๆ ขณะเดียวกัน พระในวัดต้องมีหน้าที่แนะนำ ชักชวน ขอร้องประชาชนให้เห็นความสำคัญของเขตอภัยทาน แล้วให้การสนับสนุนโดยไม่รบกวนเบียดเบียนสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือหมู่นกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอภัยทาน พร้อมทั้งจัดทำป้ายขนาดไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่ต่ำกว่า 70 เซนติเมตร โดยเขียนข้อความให้ชัดเจนว่า “เขตอภัยทาน".

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย