หน่วยงานปราบทุจริต ขอข้อมูลการสร้างหลักฐานเท็จรับเงินช่วยเหลือวาตภัยพื้นที่ ต.วัดธาตุ ต.โพธิ์ชัย ต.หาดคำ และ ต.ปะโค ด้านจังหวัดสั่งอำเภอเมืองหนองคาย ตรวจสอบใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจริงอย่างเร่งด่วน หลังล่าช้านานหลายเดือน

หน่วยงานปราบทุจริต ขอข้อมูลการสร้างหลักฐานเท็จรับเงินช่วยเหลือวาตภัยพื้นที่ ต.วัดธาตุ ต.โพธิ์ชัย ต.หาดคำ และ ต.ปะโค ด้านจังหวัดสั่งอำเภอเมืองหนองคาย ตรวจสอบใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจริงอย่างเร่งด่วน หลังล่าช้านานหลายเดือน

ภายหลังจากที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณี ท้องถิ่นหลายแห่งใน อ.เมืองหนองคาย สร้างหลักฐานเท็จขอรับเงินช่วยเหลือวาตภัย ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้มีหนังสือถึง นายเจริญจิต สืบสาววงศ์ นายอำเภอเมืองหนองคายคาย กรณีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (วาตภัย) โดยแจ้งรายละเอียด ตามที่อำเภอเมืองหนองคายได้พิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (วาตภัย) เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ,8 พฤษภาคม 2563 ในพื้นที่เทศบาลตำบลวัดธาตุ เทศบาลตำบลปะโค เทศบาลตำบลหาดคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ชัย และได้จัดส่งเรื่องมาให้จังหวัดเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือนั้น

 

ที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พิบัติจังหวัดหนองคาย (ก.ช.ภ.จ.หนองคาย) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบ ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากยังขาดเอกสารบางรายการและข้อมูลยังไม่ชัดเจนเช่น แบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัยพิบัติ ภาพถ่ายความเสียหาย ประมาณการ (ปร.4) และรายละเอียดข้อเท็จจริงของความเสียหาย

ซึ่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย ได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและติดตามการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (วาตภัย) ระหว่างวันที่ 22 และ 23 มิถุนายน 2563 ในพื้นที่เทศบาลตำบลวัดธาตุ เทศบาลตำบลปะโค เทศบาลตำบลหาดคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ชัย พบว่า ส่วนใหญ่การพิจารณาไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้

1. การขอซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของ ที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 33,000 บาท โดยปรากฏข้อเท็จจริงส่วนใหญ่พบว่า บ้านไม่มีคนพักอาศัยซึ่งแต่ชื่อในทะเบียนบ้าน คนยื่นคำร้องเป็นบุคคลอื่น ที่อยู่อาศัยเพิงพักที่มีมุงสังกะสี ไม่มีห้องน้ำ ลักษณะเป็นกระท่อม ไม่มีคนพักอาศัยอยู่จริง และอาคารที่อ้างเป็นบ้านพักแต่ข้อเท็จจริงเป็น โรงสี โรงงาน โรงจอดรถ เป็นต้น

2. การขอซ่อมแซมโรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงส่วนใหญ่พบว่า ไม่มีสภาพแสดงให้เห็นว่าเป็นคอกสัตว์ ไม่ปรากฏความเสียหายชัดเจน ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ เป็นโรงเรือนร้าง เป็นอาคารที่จอดรถบรรทุก รถยนต์การเกษตร เป็นกระท่อมเป็นเพิงพัก เป็นต้น

3. รายละเอียดข้อมูลความเสียหายกับสภาพข้อเท็จจริงของการขอรับการช่วยเหลือไม่ถูกต้องตรงกัน เช่น

1) ความเสียหายกับจำนวนเงินคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เช่น บางรายเสียหายแค่หลังคาสังกะสี แต่มีการขอรายการไม้มาเพิ่ม บางรายเสียหายเล็กน้อยแต่เพิ่มจำนวนต่างจากข้อเท็จจริง

2) ภาพถ่ายที่นำเสนอต่อคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) กับสภาพพื้นที่ข้อเท็จจริงทั่วไปไม่ตรงกัน

4. การสำรวจตรวจสอบและประเมินความเสียหาย สอบถามผู้ประสบภัยและกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ประสบภัยพิบัติพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่งานป้องกันเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยไม่มีคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมทำการสำรวจและตรวจสอบแต่อย่างใด

ดังนั้น จังหวัดหนองคายจึงขอให้อำเภอเมืองหนองคาย พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ตรวจสอบและกลั่นกรองรายละเอียดความเสียหายให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเคร่งครัด

2.นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอเมืองหนองคาย (ก.ช.ภ.อ.) เพื่อ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และรวบรวมเอกสารหลักฐานจัดส่งให้จังหวัดภายในวันที่ 20 กรกฏาคม 2563 ดังนี้

 

1) สำเนารายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ.

2) แบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัยพิบัติ

3) หนังสือรับรองที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เช่น บ้านเช่า บ้านไม่มีเลขที่ หรือ ไม่มีภาพถ่ายความเสียหาย เป็นต้น

4) ภาพถ่าย (สี) ที่ปรากฏความเสียหายชัดเจน โดยมีผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ผู้สอบข้อเท็จจริง และคณะอนุกรรมการฯ ลงลายมือชื่อรับรองแนบท้าย

อนึ่ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อเกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขึ้นในท้องที่ ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งระเบียบนี้ จึงขอให้อำเภอได้เร่งรัดดำเนินการด้วย

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานกำลังเตรียมขอข้อมูลเพื่อดำเนินการสอบสวนหากมีการจ่ายเงินโดยสร้างหลักฐานเท็จ อีกทั้งประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยต่างรอรับการช่วยเหลือเพราะการช่วยเหลือล่าช้าเป็นอย่างมากเนื่องจากมีการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยทำเป็นขบวนการ มีทั้งทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน (บางคน) ข้าราชการบางคน ซึ่งสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการทุจริตในลักษณะนี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง.

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย