เครือข่ายประชาชน สับเละหน่วยงานจัดการน้ำแห่งชาติ ปลุกผีดันเขื่อนแม่น้ำโขง ร่อนจดหมายจี้ให้แจงใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563  นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ส่งหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. เพื่อให้ชี้แจงถึงบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานในกรณีการผลักดันการสร้างเขื่อนปากชมและโครงการโขงเลยชีมูล ซึ่ง สนทช. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับผิดชอบโครงการ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับการบันทึกผลการประชุมร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยมีการอ้างถึงการทบทวน โครงการเขื่อนปากชม เพื่อทดระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นและช่วยผันน้ำโขงมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน

ทั้งนี้ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม อ.ปากชม จ.เลย บนแม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาว เป็น 1 ใน 11 เขื่อนที่อยู่ในแผนกาสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดตามลำน้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งผ่านการศึกษารายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เมื่อปี 2551 แต่ได้รับการคัดค้านจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมาโดยตลอด

นายสุวิทย์ กล่าวว่า มีการจัดฉากให้ประชาชนจาก อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม จ.เลย มายื่นหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความต้องการน้ำ ซึ่ง สนทช. จะนำเหตุผลความต้องการของกลุ่มที่ถูกจัดฉากมาเพื่อสนับสนุนความคิดในการผลักดันเขื่อนปากชมไม่ได้

“จากการที่เครือข่ายฯ ได้ติดตาม บทบาทการทำงานของ สนทช. ในการบริหารจัดการน้ำ มีแต่การทำงานที่ล้มเหลว ไม่ตรงไปตามแผน และเคยเสนอไปแล้วว่า สนทช. ควรถูกยุบเพราะไม่เกิดประโยชน์ในการจัดการน้ำของประเทศไทย” นายสุวิทย์ กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวต่อว่า การที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ส่งหนังสือถึง สนทช. ครั้งนี้ ก็เพราะ สนทช. มีความพยายามผลักดันที่จะให้มีการสร้างเขื่อนปากชม ซึ่งจะส่งผลทำให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ดังนั้นจะต้องเปิดให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเสียก่อน

 “การสร้างเขื่อนปากชม จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนไทยที่อยู่ในพื้นที่  รวมถึงปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้นเราจึงทำหนังสือส่งให้สนทช. ชี้แจง ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน” นายสุวิทย์ กล่าว

ด้าน อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้ความเห็นว่า เป็นแนวคิดโบราณในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน คณะกรรมการน้ำแห่งชาติเดิม พยายามผลักดันมาโดยตลอด ประเทศไทยไม่เคยมีแนวคิดใหม่ ซึ่งทำให้ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน ก็จะพยายามปัดฝุ่นโครงการพวกนี้มาทำ แต่มันมีบทเรียนในการจัดการน้ำแบบนี้มาแล้วทั่วโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เช่น เขื่อนแตก เขื่อนต้องรื้อทิ้ง ทำให้สูญเสียงบประมาณมหาศาลโดยเปล่าประโยชน์ และตอนนี้แม่น้ำโขงแทบจะตายแล้ว แต่ยังจะผลักดันเขื่อนปากชม ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“แท้จริงแล้ว ควรจะจัดการน้ำในพื้นที่เฉพาะ ระบบลุ่มน้ำย่อยที่ไหนควรจัดการอย่างไร มองที่สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ และคุณค่าการใช้ประโยชน์จากชุมชน แบบนี้จะมีความยั่งยืนกว่าแนวคิดเดิมที่โบราณแล้ว และผลกระทบก็เกิดแล้ว เช่น เขื่อนปากมูลที่ทำให้ปลาหายไป” อาจารย์สันติภาพกล่าว

ส่วนนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ว่า  เขื่อนปากชมนั้นชาวบ้านค้านกันมานาน และปัจจุบันก็ยังคงค้านอยู่ ส่วนสนทช.นั้นพึ่งมีบทบาทใหม่ในการจัดการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเดิมแต่ก่อนอยู่ภายในกรมทรัพยากรน้ำ แต่โยกย้ายมาอยู่ภายใต้ สนทช. จึงอาจจะคิดผลักดันเขื่อนปากชม

“สนทช. จะใช้การที่เรียกว่า การสะกิดของเครือข่ายที่อยากให้เกิดการสร้างเขื่อนปากชม แล้วจะนำมาเป็นเหตุผลให้การผลักดันโครงการไม่ได้ และจากที่อดีตเคยร่วมการประชุมเรื่องทางเลือกในการจัดการน้ำในแม่น้ำโขง องค์กรรัฐในไทยเองเห็นตรงว่าไม่จำเป็นต้องทำเขื่อนปากชม” นายหาญณรงค์ กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ กลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ใช่ว่า สนทช. จะผลักดันการสร้างเขื่อนปากชม แต่ สนทช. ควรไปศึกษา ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ตอนนี้แม่น้ำโขงป่วยอย่างหนัก จากเขื่อนต่างๆ ที่สร้างขึ้น ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ น้ำสีคราม สีฟ้า หรือแม้แต่ระดับน้ำโขงที่ผิดแปลกไปจากเดิม ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนในจีน เขื่อนไชยบุรี และเขื่อนอื่นๆ เพราะผลกระทบตอนนี้มันชัดเจนแล้ว เพียงแต่ว่ายังขาดการศึกษาทางวิชาการที่จริงจัง 

“สนทช. ควรไปปรึกษาการจัดการน้ำร่วมกันในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนในระดับระหว่างประเทศ เพราะผลกระทบชัดเจนแล้ว รวมทั้งเรื่องการผลิตพลังงานจากเขื่อนมันเป็นเรื่องล้าหลังแล้ว ตอนนี้มีพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น พลังงานจากแสงพระอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น” ครู ตี๋ กล่าว

 

สุดท้ายนายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน ได้ให้ความเห็นว่า  ถ้า สนทช. คิดอยากผลักดันเขื่อนปากชม ต้องพูดความจริงก่อนว่า ปัจจุบันเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้เกิดผลกระทบอยู่แล้ว ถ้าอยากทำ สนทช. ต้องไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงปัจจุบันก่อน พร้อมทั้งต้องไปดูความจำเป็นที่ต้องสร้างเขื่อนปากชม เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานไฟฟ้า ที่มีพลังงานทางเลือกเยอะแล้ว หรือ การดันน้ำโขงให้สูง

“ในการทำโครงการโขงเลยชีมูล มันมีปัญหาอยู่แล้ว สนทช. ควรเลิกความคิดการทำโครงการนี้ได้แล้ว ควรไปจัดการน้ำตามความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ว่าต้องการอย่างไรเป็นหลัก” นายชาญณรงค์ กล่าว

/////////////////////////////////////////////////////////////////

นายณรงค์ฤทธิ์  อุปจันทร์

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

โทร.080-3020037   อีเมล์ : huktin.ud@gmail.com

 

กลับ กลับหน้าหลัก



ติดต่อเรา

Copyright © 2016 nongkhainewsonline : ข่าวออนไลน์หนองคาย